ข่อย : ไม้ดัดของไทย
ความรู้เรื่องไม้ดัด
การแสวงหาความสุขในชีวิตเป็นสิ่งพึงปรารถนาของทุกคน แต่ในสภาพปัจจุบันบ้านเมืองของเราเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องรีบเร่งขวนขวายประกอบอาชีพเพื่อปากท้องความอยู่รอดของตนและครอบครัว ทำให้ในแต่ละวัน มีเวลาว่างเหลือน้อยมากบางท่านใช้เวลาว่างนี้ สรรหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำได้มากมายไม่มีวันหมดสิ้นแต่ก็หลายท่านที่ยังมองไม่เห็นว่ากิจกรรมใด จะเหมาะสมและทำได้ ก็มักจะปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไร้คุณค่า
การปลูกไม้ดัด จัดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าและให้ความสุขทางใจได้ ทั้งนี้เพราะไม้ดัดนอกจากจะให้ความสวยงามในเชิงธรรมชาติแล้ว ยังเสมือนเป็นโอสถขนานวิเศษ ที่ช่วยบำรุงสุขภาพทั้งร่างการและจิตใจ ลดความเครียดจากงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
ไม้ดัดเป็นหนึ่งในตัวแทนของธรรมชาติ ที่คนส่วนมากชมชอบ แต่ไม่ได้สนใจที่จะปลูกและบำรุงรักษาอย่างจริงจังโดยแต่ละท่านก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าราคาแพงหรือจะเริ่มต้นจากการนำต้นตอมาเลี้ยงแล้วดัดเองก็ต้องใช้เวลาหลายปีไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่พอ
จริงอยู่การปลูกเลี้ยงไม้ดัดต้องอาศัยใจรักเป็นประการสำคัญมีความมานะอดทนรอคอย ดูแลประคบประหงมอยู่เสมอแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เวลามากมายในการดูแลหากเราเลี้ยงไว้ดูเล่นสัก 2-3 ต้น เพื่อแสวงหาความสุข
มีนักเล่นไม้ดันรุ่นเก่า ๆ ได้ให้นิยามเป็นเชิงเปรียบเทียบโดยเรียกไม้ดัดว่า "ไม้หัดนิสัย"
ท่านที่เป็นผู้นำของบุตรหลานทั้งหลายอาจจะปลูกฝังโน้มน้าวจิตใจและพัฒนาบุคลิกลักษณะนิสัยของบุตรหลานได้ โดยการเป็นผู้นำเลี้ยงไม้ดัด เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน พร้อมทั้งแนะนำให้เขาเลี้ยงเป็นการส่วนตัวบ้าง ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้อนุชนรุ่นหลังมีความรักในต้นไม้และธรรมชาติแวดล้อม เกิดความคิด ตระหนัก หวงแหน ทั้งยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ไม้ดัดเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยอีกด้วย
ลักษณะของไม้ดัดไทย
โดยทั่ว ๆ ไปถ้าเอ่ยถึงไม้ดัดแล้ว ก็จะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าบางท่านอาจยังมีความเข้าใจที่สับสนไปบ้างโดยที่แยกแยะไม่ได้ว่า รูปแบบไหนเป็นไม้ดัดไทยและรูปแบบไหนเป็นบอนไซ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม้ดัดที่เป็นศิลปะประจำชาติ จะแตกต่างจากบอนไซของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง
บอนไซของญี่ปุ่น เป็นการนำเอาต้นตอไม้ใหญ่หรือไม้ประดับที่เราปลูกเลี้ยงไว้มาดัดและจัดรูปทรงให้เหมือนไม้ใหญ่ตามธรรมชาติและปลูกเลี้ยงไว้ในกระถางแบน
ไม้ดัดไทย เป็นการขุดเอาไม้ขนาดโตพอสมควรที่มีอยู่แล้วมาปลูก ให้มีชีวิตรอดแล้วเริ่มทำการตกแต่งกิ่งที่แตกขึ้นใหม่ ดัดให้เปลี่ยนสภาพรูปทรงต่างไปจากธรรมชาติดั้งเดิม โดยดัดรูปทรงให้เป็นไปตามแบบฉบับที่กำหนดไว้ หรือบางท่านก็จินตนาการขึ้นมาใหม่ นั่นก็ถือว่านอกแบบตำราตามใจรักใจชอบของบุคคลนั้น
การปลูกเลี้ยงไม้ดัดในทวีปเอเซีย ดั้งเดิมนั้นมี 3 ประเทศเท่านั้น คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่นและไทย ในประเทศจีนคงเหลือให้เห็นเพียงในภาพวาดตามแจกัน กระถางต้นไม้และฝาผนังเท่านั้น ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงไปทั้งโลกก็ว่าได้
สำหรับประเทศไทย การเลี้ยงไม้ดัดยังคงนิยมกันในวงแคบ ๆ ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงดู การตกแต่งให้เป็นไปตามแบบดั้งเดิมนับว่ายุ่งยาก ต้องใช้ความมานะพยายามและใช้เวลา 4-5 ปีทีเดียว กว่าจะได้ไม้ดัดที่มีความงดงามตามศิลปะแบบไทย ๆ
ฉะนั้น ไม้ดัดจึงเป็นการแสดงออกให้คนทั่วไปมองเห็นถึงศิลปะอันสวยสดงดงามของไทยเรา น่าที่เราและลูกหลานจะได้สืบทอดมรดกอันทรงคุณค่าให้อยู่ต่อไปนาน ๆ และทำให้มีชื่อเสียง เช่นเดียวกับบอนไซของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
ประวัติความเป็นมาของไม้ดัดไทย
ไม้ดัดไทย เริ่มมีการปลูกเลี้ยงกันมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ไม่แพร่หลายนัก จะมีก็เพียงในกลุ่มเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น การเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ทำให้การเลี้ยงไม้ดัดหยุดชะงักไประยะหนึ่งแล้วกลับมานิยมกันอีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไม้ดัดไว้ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็ยังมีให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบันนี้
หลักฐานเอกสารการเลี้ยงไม้ดัดเท่าที่พบ ปรากฏในกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนย่องขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อเข้าหานางวันทอง ความว่า
กระถางแก้วเกดพิกุลแกม ยี่สุ่นแซมมะสังดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม ตะขบข่อยตั้งไว้จังหวะกัน
ตำราไม้ดัดมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนโดยหลวงมาคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) เขียนเป็นโคลงตำราไม้ดัด ในตำราได้กล่าวว่า ได้รับความรู้เรื่องไม้ดัดจากพระด้วง ซึ่งเดิมเป็นข้าราชการเคยดูและเรื่องไม้ดัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แม่แบบของไม้ดัดไทย
แม่แบบของไม้ดัดไทยประเภทต่าง ๆ
ลักษณะของแม่แบบ หรือต้นแบบของไม้ดัดไทย อาศัยรูปลักษณะโครงสร้างตามธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นแนวคิดในการแบ่งแยกประเภทซึ่งแบ่งได้ดังนี้
ประเภทแรก เป็นไม้ที่ดัดให้เป็นไปตามโคลงศิลปะของไทย ซึ่งดูแล้วจะไม่เหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ตามโคลงตำราว่าด้วยเรื่องไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้กล่าวไว้ในโคลงว่ามี 7 ชนิดด้วยกัน คือ
1. ไม้ขบวน 2. ไม้ฉาก
3. ไม้หกเหียน 4. ไม้เขน
5. ไม้ป่าข้อม 6. ไม้กำมะลอ
7. ไม้ตลก
ประเภทที่สอง เป็นไม้ที่ดัดให้ดูเหมือนกับไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ
1. ไม้ญี่ปุ่น 2. ไม้เอนชาย
ไม้ดัดแต่ละชนิด มีลักษณะดังรายละเอียดต่อไปนี้
ไม้ขบวนวาดเลี้ยว วงเวียน ต้นนา
ตอต่ำตัดเรือนเจียน เรียบร้อย
ที่กิ่งชอบใช้เนียน สนิทช่อง ไฟแฮ
ทรงฟุ่มชิดเชิดช้อย ช่องชั้นจังหวะว่าง
ไม้ขบวน หรือไม้กระบวน ลักษณะของทรงต้นจะตรง หรือคดเล็กน้อยก็ได้ ต้นต่ำดัดกิ่งให้วกวนเวียนขึ้นไปวนสุดยอด การจะดัดแต่งกิ่งจะไม่กำหนดรูปทรงแน่นอนผู้ดัดจะดัดพลิกแพลงอย่างใดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องจัดช่อพุ่มใบให้จังหวะช่องไฟดูพอเหมาะพอดีและแต่งให้เรียบร้อย โดยทั่วไปนิยมทำเป็น 9 ช่อ
ไม้ขบวนสามารถดัดแต่งช่อพุ่มได้ง่ายกว่าไม้ดัดชนิดอื่น ๆ จึงได้รับความนิยมอย่างมาก
ฉากแบบโคนทอดน้อย หนึ่งงาม
ที่คดคบขดตาม หักค้อม
ตอย่อกิ่งต่อสาม สมแบบ เดิมนอ
ต้นชดเค้ากิ่งหย้อม อย่าช้าเสียคม
ไม้ฉาก ลักษณะทรงต้นจะตรงขึ้นมาดัดหักเป็นรูปมุมฉาก กิ่งก็ดัดแต่งให้เป็นรูปมุมฉากเช่นเดียวกับลำต้น ส่วนปลายกิ่งก็ปล่อยให้เป็นพุ่มใบ นิยมทำพุ่มใบ 9 ช่อ ไม้ดัดฉากนี้จะทำเป็นต้นเดี่ยวหรือต้นคู่ ในลักษณะรูปทรงแบนและฉากบังตาก็ได้
ไม้ฉากเป็นไม้ดัดที่ดัดมากที่สุด ผู้ที่จะดัดจะต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือ และมีความวิริยะ ความอดทนสูงมากจึงจะทำได้
หกเหียนเห็ดดัดคู่ ดัดทับ
ตอเผล้เร่เรือนรับ ลอดพลิ้ว
ที่ยอดทอดทวนทับ ทบกิ่ง กลแฮ
ดูดุจหมัดมวยงิ้ว ผงาดง้ำผงกหงาย
ไม้หกเหียน ลักษณะทรงต้นมีการดัดต่างกิ่งให้ย้อนกลับลงมาทางโคนต้นก่อน แล้วจึงดัดทำกิ่งให้โค้งงอขึ้นไปรอบ ๆ ต้น การดัดแต่งกิ่งช่อพุ่มของไม้หกเหียนนี้ ตามตำรากำหนดให้ทำกิ่งและช่อพุ่มจำนวน 11 ช่อ ไม้ดัดชนิดนี้จึงอยู่ในประเภทที่ดัดยาก
ไม้เขนเบนกิ่งท้าย ทวนลง
โคนปุ่มภูต้นตรง เกร่อเก้อ
ที่ยอดทอดหวนหง เห็ดขด คู่แฮ
ดุจมถคเหลียวชะเง้อ ชะโงกเงื้อมมาหลัง
ไม้เขน ต่างจากไม้ดัดชนิดอื่นตรงที่จะให้ความสำคัญที่ทรงต้น โดยต้นจะต้องมีปุ่มที่โคนและกิ่งต่ำสุดต้องดัดลง ให้อยู่ตรงข้ามกับกิ่งที่ 2 และกิ่งยอดโดยเฉพาะกิ่งยอดต้องหักเอี้ยวลงมาข้างหลังก่อนแล้วจึงดัดวกกลับขึ้น สำหรับกิ่งที่ 2 ดัดให้ได้จังหวะ รับกับกิ่งยอด ไม้เขนนี้นิยมทำกิ่งและช่อพุ่มใบ 3 ช่อ จึงจะดูสวยงาม
ป่าข้อมโคนปุ่มต้น ตามตรง
คบแยกสามกิ่งจง จัดเก้า
จังหวะระยะวง เวียนรอบ กลมแฮ
จัดช่องไฟให้เท่า ส่วนต้นดัดเรือน
ไม้ป่าข้อม ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไปถึงยอด ตรงโคนมีปุ่มรอยตัด การตัดแต่งกิ่งดัดให้วนเวียนรอบ ๆ ต้นขึ้นไป การทำกิ่งและช่อพุ่มกำหนดให้ทำ 3 กิ่ง ๆ ละ 3 ช่อ รวมทั้งต้น 9 ช่อ และต้องจัดทำกิ่งและช่อให้สม่ำเสมอกัน
ไม้ญี่ปุ่นรวมทั้ง กำมะลอ
ตลกรากเอนชายมอ มากใช้
ท่วงทีที่ขันพอ พูมตลก
คงกิ่งจังหวะได้ ช่องพร้อม เรือนเสมอ
ไม้กำมะลอ ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไป จะมีกิ่งที่โคนหรือไม่มีก็ได้ แต่ส่วนยอดจะต้องดัดให้หันเหหมุนเวียนจากยอดวกวนชี้ลงล่างไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดจึงจะสมชื่อกำมะลอ คือไม่ใช่ของจริง
ฉะนั้นกิ่งยอดจะต้องทำให้หักเหชี้ลงข้างล่างแทนที่จะชี้ขึ้นฟ้าเหมือนทั่ว ๆ ไป และถ้ายิ่งยักเยื้องพิสดารได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี จะมีกิ่งและช่อมากน้อยเท่าไรก็ไม่กำหนด ขอให้ดูสวยงามเข้ารูปทรงเท่านั้นเป็นพอ
ไม้ตลก เป็นไม้ดัดที่ตั้งใจดัดให้ผู้พบเห็นแปลกตาทำนองตลกขบขัน มี 2 ลักษณะคือ ไม้ตลกหัวและไม้ตลกราก
ไม้ตลกหัว จะมีส่วนบนสุดยอดของลำต้นเป็นก้อนกลุ่มยิ่งใหญ่โตเท่าไรยิ่งดี ลักษณะลำต้นจะเป็นกระปุ่มกระป่ำ มีกิ่งมีช่อน้อย
ไม้ตลกราก จะมีรากลอยหรือรากบางส่วนโผล่พื้นดินขึ้นมาดูไม่เรียบร้อย
ไม้ดัดชนิดนี้ ถ้าจะให้สวยงามจริง ๆ ต้องมีทั้งตลกหัวและกลกรากอยู่ในต้นเดียวกันและทำช่อกิ่งเพียงเล็กน้อยจะดูสวยงาม
ไม้ญี่ปุ่น ลักษณะเป็นไม้ดัดที่คล้ายกับไม้แคระทรงญี่ปุ่นและวิธีการดัดก็คล้าย ๆ กัน คือทำโคนต้นใหญ่ และบังคับให้แคระแกร็นปลายต้นเรียว ลำต้นจะตรงหรือเอนเล็กน้อยก็ได้ กิ่งและช่อพุ่มดัดแต่งให้กระจายตามรูปทรงไม้ใหญ่ในธรรมชาติ
ไม้ดัดชนิดนี้จะปลูกติด 2 ต้นคู่ติดกัน โดยให้มีขนาดลดหลั่นกันลงมาหรือจะทำเฉพาะต้นเดี่ยว ก็ได้
ไม้เอนชาย หรือเอนชายมอ ลักษณะลำต้นตรงขึ้นมา แล้วเอนออกไปทางด้านข้างดูเหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นตามหน้าผา หรือตามตลิ่งโดยมีรากยึดเกาะด้านข้าง
เก้าชนิดนับชื่ออ้าง ออกนาม ไม้เฮย
โดยบุราณเรียกตาม ต่อถ้อย
คิดดัดแต่งตัดงาม คงเงื่อน นั้นนา
พอประจักษ์นามน้อย เนื่องไม้มีเดิม
ไม้ดัดทั้ง 9 ชนิด ตามโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ ที่กล่าวเสนอมานั้น เป็นลักษณะต้นแบบของข่อยดัดของไทยเราโดยแท้ สมควรที่ผู้เล่นไม้ดัดควรยึดถือเป็นแบบอย่าง แต่สำหรับในทางปฏิบัติแล้วการดัดและตกแต่งกิ่งช่อพุ่มอาจดัดยักเยื้องต่างไปบ้างตามรูปทรงต้นตอ แต่ก็อย่าให้ถึงกับเสียรูปทรงจากโคลงตำราเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์และเชิดชูศิลปะประจำชาติของไทยเราสืบต่อไป
การคัดเลือกและเตรียมพันธุ์ไม้ดัด
ลักษณะรูปทรงของไม้หุ่น
ต้นไม้ที่นำมาทำเป็นไม้ดัดเราจะเรียกว่า "ไม้หุ่น" ลักษณะการได้มาของไม้หุ่นจะมาจาก 2 แหล่ง คือ
1. ได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะออกไปหาขุดเองหรือหาซื้อจากผู้ที่ขุดมาขาย
2. ปลูกเลี้ยงขึ้นมาเอง
ไม่ว่าจะหาไม้มาได้ในลักษณะใดก็ตาม การดัดตกแต่งจะยุ่งยากหรือจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับรูปทรงของไม้หุ่นเป็นสำคัญโดยทั่ว ๆ ไปนักเลงไม้ดัดจำแนกรูปทรงไม้หุ่นไว้ 3 แบบ ด้วยกัน คือ
1. ไม้บรรจบป่า
2. ไม้บรรจบหุ่น
3. ไม้วิชา
ไม้บรรจบป่า จะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ รูปทรงกิ่งก้านคดเคี้ยวไปมา เนื่องจากถูกสัตว์เหยียบย่ำหรือเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใต้พุ่มไม้ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ทรงพุ่ม แลดูแคระแกร็นลักษณะทรงต้นดีเข้าที่เกือบใช้ได้แล้วอาจขาดเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้นไม้ลักษณะนี้จึงเหมาะสมต่อการนำมาดัดให้ได้รูปทรง เพียงเพิ่มกิ่ง เพิ่มช่อใบ เว้นช่องไฟของช่อใบให้รับหุ่นหรือทรงต้น ก็จะทำให้เป็นไม้ดัดที่ดูงานได้ โดยใช้เวลาอีกไม่มากนัก การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ก็เสร็จสมบูรณ์
ไม้บรรจบหุ่น เป็นไม้ที่มีลักษณะรูปทรงหุ่นใกล้เคียงกับรูปแบบไม้ดัดที่จะทำ เพียงนำมาทำการดัดแต่งอีกเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เริ่มทำกิ่งช่อต่อไปได้ไม้บรรจบหุ่นนี้เหมาะสำหรับนำมาดัดแต่งทำเป็นไม้ดัด ลักษณะไม้ตลก ไม้ขบวน ไม้เอนชายและไม้ญี่ปุ่นเท่านั้น
การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด จะต้องใช้เวลานานอาจจะถึง 9 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์
ไม้วิชา เป็นไม้ที่มีลักษณะทรงต้นเพียงท่อนเดียว จะนำมาทำเป็นรูปร่างอย่างไรไม่ได้เลย เป็นไม้หุ่นที่นำมาทำไม้ดัดยากที่สุด จะต้องนำมาเลี้ยงให้ต้นแตกกิ่งกระโดงใหม่แล้วจึงจะทำการปิดกระหม่อมหุ่น (การปิดกระหม่อม หมายถึง การที่ดัดกิ่งที่แตกใหม่มาทับรอยตัดของต้นต่อเดิม) เมื่อกิ่งกระโดงได้ขนาดและเชื่อมกับต้นตอได้ดีแล้ว ก็จะใช้กิ่งกระโดงนั้นเป็นหุ่นทำกิ่งช่อต่อไป ผู้ดัดจะต้องใช้ฝีมือ และมีความวิริยะอุตสาหะเป็นเลิศ จึงจะทำได้สำเร็จ การใช้ไม้ชนิดนี้มาทำไม้หุ่นต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ไม้ดัดที่เสร็จสมบูรณ์อาจจะถึง 15-18 ปีก็ได้ ปีก็ได้ ไม้วิชานี้ถือว่าเป็นไม้ที่ใช้ทดสอบฝีมือผู้ดัดได้เป็นอย่างดี
การเตรียมพันธุ์ไม้ดัด
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่จะเลี้ยงไม้ดัดจะต้องไปเสาะหาไม้หุ่นจากป่าธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากมาย การขุดก็ต้องค่อย ๆ ขุดล้อมโคนต้นให้มีดินติดมา ตัดกิ่งและรากที่ยาวเกินไปออก ใช้กระสอบหรือวัตถุอื่นปิดคลุมส่วนดินและรากเอาไว้ ในขณะที่เคลื่อนย้าย จะต้องระมัดระวังอย่าให้กระเทือนมาก
นำมาปลูกและใช้หลักปักยึดไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นเอียงหรือล้มจะต้องปลูกทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง รอจนต้นไม้ฟื้นตัว และแตกกิ่งก้านใหม่จึงจะค่อยเริ่มลงมือดัดตกแต่งตามต้องการ
ในปัจจุบันมีผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดัดกันมากขึ้น จึงเกิดมีอาชีพขุดต้นตอขาย ผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งธรรมชาติที่มีต้นตอขึ้นอยู่แล้วมากมาย จะเลือกขุดและนำมาพักเลี้ยงให้ฟื้นตัวดี เมื่อเริ่มแตกกิ่งก้านใหม่ จึงนำออกมาขายให้กับผู้ที่ต้องการปลูกเลี้ยงต่อไป
ในอนาคต คงจะต้องใช้วิธีปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ขึ้นมาเอง เพราะพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินับวันก็จะหายากและขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ
การตัดแต่งกิ่งช่อใบ
การปิดกระหม่อมทำหุ่นไม้ดัด
ลักษณะของไม้หุ่นที่มีรูปทรงเป็นลักษณะไม้หุ่นเดียว (ไม้วิชา) เมื่อนำมาปลูกและฟื้นตัวได้ดี มีกิ่งกระโดงแตกใหม่แล้วจะต้องทำการปิดกระหม่อม
ลักษณะไม้ท่อนเดียวเมื่อเจริญเติบโตดีแล้วให้เลื่อยต้นตอ สูงจากพื้นดินพอเหมาะตามต้องการ ต่อมาจะเกิดกิ่งกระโดงแตกออกมาใต้บริเวณรอยตัด ถ้ากิ่งกระโดงแตกต่ำจากรอยตัดมากเกินไป ก็ให้ตัดหัวตอลดต่ำลง เมื่อกระโดงยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ก็ให้เริ่มทำการปิดกระหม่อมทำหุ่น โดยการค่อย ๆ กับหลักให้แน่น ปล่อยให้กิ่งกระโดงยาวออกไปเรื่อย ๆ แต่ต้องคอยริดยอดหรือให้กิ่งกระโดงโตเร็วขึ้น รอจนกว่ากิ่งกระโดงจะโตเชื่อมปิดกระหม่อมได้เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้ตัดกิ่งกระโดงออกเหลือไว้เท่าที่ต้องการเท่านั้น เพื่อใช้กิ่งกระโดงนี้เป็นหุ่นเลี้ยงกิ่งแยกต่อไป
แต่ละหุ่นจะปล่อยให้แตกกิ่งแยกเท่าไรนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะทำไม้ตัดชนิดใดจากรูปแบบทั้ง 9 ชนิด ที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 2
เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง
การเตรียมต้นตอ เพื่อการปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดัดไม่ว่าต้นตอที่ได้มานั้นจะมีรูปแบบเป็นไม้บรรจบป่าหรือไม้บรรจบหุ่น รูปทรงมักจะไม่งามตามความต้องการ คงต้องเลี้ยงและบังคับ ให้มีกิ่งก้านพุ่มใบตามรูปร่างรูปทรงที่ตัดเอาไว้
การดัดกิ่งก้านหรือบังคับให้แตกกิ่งก้านตรงจุดที่ต้องการ เป็นเรื่องที่ต้องทำเสมอ เทคนิคเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษา ติดตามสังเกตจากผู้มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม แบบเรียนคงบอกผู้ปลูกเลี้ยงไม่ได้ว่าจะต้องดัดตรงไหนให้แตกกิ่งใหม่กี่กิ่ง คงเสนอแนะเทคนิคการดัดและเสริมกิ่ง เท่าที่ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมทำกันเท่านั้น
การดัดโค้งงอ
เป็นการจัดกิ่งพุ่มใบให้ระยะห่างได้จังหวะช่องไฟที่เหมาะสม การดัดลักษณะนี้จะใช้ลวดพันลำต้นและกิ่งที่ต้องการ การพันลวดควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
1. ขนาดของลวด เลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับลำต้นหรือกิ่งที่จะพันเพราะถ้าใช้ลวดเล็กเกินไป จะบังคับให้กิ่งโค้งตามต้องการไม่ได้ หรือถ้าลวดมีขนาดใหญ่ก็จะแข็งทำให้พันลำบาก
2. การพัน พันวนไปตามต้นกิ่งในลักษณะ 45 องศา ทั้งระยะห่างพอประมาณอย่าให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป
3. การดูแลหลังพันลวด หลังจากพันลวดเสร็จแล้วสามารถดัดได้ตามต้องการ การดัดควรทำอย่างเบามือ อย่าพยายามดัดหรือหักลำต้นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กิ่งและลำต้นเสียหายได้ เมื่อดัดเรียบร้อยแล้ว ต้องปล่อยให้ต้นไม้อยู่ตัวสักระยะหนึ่ง ประมาณ 3-4 เดือน จึงเอาลวดออกเพื่อป้องกันการสปริงตัวกลับของกิ่ง ถ้าเห็นว่ากิ่งมีรอยถูกลวดมัด ให้รีบแก้ออกแล้วพันใหม่ทันที
การดัดกิ่งให้โค้งงออีกรูปแบบหนึ่ง คือการใช้น้ำหนักถ่วงให้กิ่งโค้ง ห้อยงอลงเพราะแรงดึงหรือแรงถ่วง โดยใช้ก้อนหินหรือของหนัก ๆ ผูกเชือกห้อยไว้กับกิ่งที่ต้องการดัด จนเห็นว่ากิ่งอยู่ตัวดีจึงนำออก
การดัดฉาก
กรณีที่ต้องการกิ่งหักมุม หรือหักข้อศอก ให้ใช้มีดปาดส่วนของกิ่งด้านที่ต้องการหักมุมออก แล้วหักพับตามต้องการโดยใช้ลวดบังคับหรือใช้เชือกผูกยึดจากนั้นใช้พลาสติกพันทับรอยปาดที่หักพับของกิ่ง
เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้ จะทำให้รอยแผลสร้างเปลือกออกหุ้มโดยเร็วขึ้น
การบังคับให้แตกกิ่ง
บางครั้งจำเป็นต้องบังคับให้แตกกิ่งใหม่ตรงตามจุดที่ต้องการซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกิ่งที่มีตาและตรงที่ไม่มีตา
การบังคับให้แตกกิ่งตรงที่มีตาอยู่แล้ว ทำได้โดยการใช้พลาสติกพันลำต้นและกิ่งให้มิด เว้นไว้ตรงตาที่ต้องการให้แตกกิ่ง เมื่อตาที่เว้นไว้แตกกิ่งจะต้องรอให้กิ่งโตพอสมควร จึงเอาพลาสติกที่พันออก
การบังคับให้แตกกิ่งตรงที่ไม่มีตา วิธีการทำได้โดยใช้สว่านเจาะทะลุ แล้วนำกิ่งยอดจากต้นอื่น มาตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ และรูดใบออกให้หมด นำกิ่งดังกล่าวสอดให้ทะลุรูเจาะนั้น แล้วผูกยึดกิ่งสอดนั้นให้แน่น รอให้กิ่งที่สอดนั้นโตขึ้นเนื้อเยื่อและท่อน้ำนำอาหารก็จะเชื่อมประสานติดกันแน่น จากนั้นจึงค่อยตัดโคนกิ่งที่สอดให้ชิดกับกิ่งหุ่น ซึ่งเมื่อนาน ๆ ไปก็จะดูเป็นกิ่งจากต้นหุ่นเดียวกัน
การทำช่อหรือพุ่มใบ
เมื่อมีการจัดหรือบังคับให้แตกกิ่งตรงตามจุดต้องการ สิ่งที่ต้องดูแลต่อไปก็คือช่อหรือพุ่มใบ ไม้ดัดนอกจากรูปทรงต้นกิ่งก้านแล้ว ช่อหรือพุ่มใบเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้ไม้ต้นนั้นดูงดงาม ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น
การทำช่อหรือพุ่มใบทำได้โดยการตัดยอดของกิ่งนั้นออก ให้กิ่งนั้นแตกยอดและใบออกมา รอจนยอดนั้นมีใบเพสลาด (กิ่งอ่อนกิ่งแก่) จากนั้นก็ตัดยอดที่แตกออกมาใหม่นี้อีกครั้งในลักษณะเช่นนี้ติดต่อกันไป จนกระทั่งส่วนนั้นแตกยอดและใบมากขึ้นดูสวยงาม ก็ตัดแต่งให้ได้รูปทรงของช่อใบตามต้องการ
การทำช่อหรือพุ่มใบ กิ่งหนึ่งจะแยกออกเป็นกี่ช่อที่พุ่มใบก็ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบตามตำราและรูปทรงของไม้หุ่น แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือ การจัดช่อใบให้ได้ระยะที่พอเหมาะกับสัดส่วนและสัมพันธ์กัน เช่น การที่จะทำให้มี 9 ช่อ ก็จัดวาง 2 ชั้นชั้นละ 4 ช่อ และวางไว้ที่ยอดอีก 1 ช่อ รวมเป็น 9 ช่อพอดี
การบำรุงรักษา
การนำไม้ดัดลงปลูกในกระถาง
หลังจากที่เริ่มดัดแต่งกิ่งช่อใบจนกระทั่งได้ไม้ดัดที่เข้ารูปเข้าทรงตามรูปแบบที่ต้องการแล้ว ก็จะทำการขุดแล้วนำไปปลูกในกระถาง เพื่อที่จะได้ปลูกเลี้ยงตั้งโชว์ในที่ที่ต้องการ
การขุดขึ้นปลูกในกระถางจะกระทำในทันทีทันใดไม่ได้ จะต้องเตรียมการเพื่อให้ต้นไม้ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม (กระถาง) ที่จะเข้าไปดำรงชีวิตอยู่ใหม่เสียก่อน โดยจะต้องขุดล้อมดินรอบ ๆ ต้นให้ห่างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตัดรากให้เหลือไว้ 1-2 ราก แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน การขุดล้อมควรขุดในฤดูฝน จะเป็นการดีที่สุด เมื่อถึงเวลาที่จะต้องขุดเพื่อยกขึ้นมาปลูกในกระถางก็ให้ขุดและตัดรากขึ้นมาปลูกในกระถางที่ได้เตรียมไว้
ในขั้นตอนนี้ นับว่าสำคัญยิ่งขั้นตอนหนึ่งเพราะถ้านำไม้ดัดขึ้นปลูกในกระถางแล้วไม่ตาย ก็ถือว่าผู้เลี้ยงไม้ดัดผู้นั้นประสบผลสำเร็จและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
การรดน้ำและให้ปุ๋ย
ในช่วงที่นำขึ้นปลูกในกระถางใหม่ ๆ ระยะแรก ๆ ควรรดน้ำให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็จะต้องไม่ให้โชกหรือแฉะจนเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าและตายได้ การให้น้ำควรจะให้ตอนเช้า ในขณะที่แดดไม่ร้อนจัด
หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนเมื่อเห็นว่าต้นไม้ดัดไม่ตาย และเริ่มแตกใบแตกตาออกมา ก็ให้น้ำน้อยลงได้ การสังเกตว่าการให้น้ำเพียงพอหรือไม่ ให้ดูที่ใบ ถ้าไม่เหี่ยวเฉาในตอนเย็น ก็แสดงว่าการให้น้ำพอดีแล้ว
ถ้าหากต้องการเร่งให้ต้นแตกพุ่มใบรวดเร็วขึ้นก็ให้ปุ๋ยเพิ่มเติม โดยการใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำฉีดพ่นทางใบ จะทำให้การเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น
การตัดแต่งรักษารูปทรงช่อใบ
ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องคอยหมั่นตัดแต่งกิ่งและช่อใบให้ได้ทรงพุ่มสวยงามตามแม่แบบอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ไม้ดัดที่ดูสวยงามตามต้องการ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และถ้าต้องการให้ได้ไม้ดัดที่สมบูรณ์เต็มที่ รูปทรงงามพร้อม คงต้องใช้เวลาตัดแต่งต่ออีก 2-3 ปี รวมแล้วต้องใช้เวลา 5-10 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่เริ่มทำ จึงจะได้ไม้ดัดที่สวยสมบูรณ์คุ้มค่าแก่การรอคอย
สำหรับพุ่มใบถ้าตัดแต่งเป็นเวลานานจะเกิดการแคระแกร็น ใบแก่จะมีสีไม่เขียวสดใส ต้องใช้วิธีรูดเอาใบตามพุ่มออกให้หมด เพื่อให้แตกใบใหม่ที่เขียวสดสวยกว่าใบเก่า การรูดใบทิ้งนี้ควรทำในช่วง ฤดูฝน หรือก่อนเข้าฤดูฝนเล็กน้อยจะทำให้แตกใบใหม่ได้ดี
โรคแมลงศัตรูของไม้ดัดและการป้องกันรักษา
สำหรับไม้ดัดโดยเฉพาะข่อย ไม่มีโรคระบาดอย่างรุนแรงจนได้รับความเสียหาย จะมีบ้างก็คือแมลงปีกแข็ง เพลี้ยแป้ง เชื้อรา กัดกินและทำลายใบเท่านั้นฉะนั้นการป้องกันเพียงใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อรา ผสมกับน้ำให้มีความเจือจางฉีดพ่นประมาณ 1-2 เดือน ต่อครั้งก็เยงพอแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น